วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559


ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีพี่ๆน้องๆ สอบถามกันมามากมายหลายเคสเหลือเกินว่า ช่วงนี้ดินเลี้ยงกุ้งนั้นค่อนข้างจะขาดแคลนในบางพื้นที่ หาซื้อยากมากๆ บางพื้นที่ก็ทยอยมีมาบ้าง แต่ก็ใกลเหลือเกิน ทีนี้ จะใช้ดินอะไรแทนได้บ้างไหม คำถามเหล่านี้ ก็พอจะตอบให้ได้ดังนี้ครับ
1. ดินบัว , ดินเหนียว
อันนี้หาซื้อง่าย ราคาถูกมาก ใช้ไม่กี่ก้อน โปะไม่กี่ก้อน เต็มอ่างมังกรใหญ่ ๆ ตอนโปะดินนี่สนุกมาก แต่การรอน้ำใส่ นี่ต้องใช้เวลานาน (ไม่)ซักหน่อย ดินประเภทดินบัวนี้ เหมาะกับการเลี้ยงกุ้งแคระ ที่ราคาค่างวดไม่สูงนัก มากกว่ากุ้งเครย์ฟิช เนื่องจาก กุ้งเครย์ฟิช จะขุดหน้าดินจนน้ำขุ่นฟุ้งไปหมด และ พบว่า บ่อยครั้ง กุ้งมักจะขุดไปเจอแก็สไข่เน่า แล้วจิตวิญญาณ ก็จะลอยสลาย หายฟุ้ง กลับคืนขึ้นสู่สรวงสวรรค์หลากหลายชั้น โดยไม่ต้องบริจาค ชนิดขายบ้าน ขายรถ จนแทบ จะขายตัว ขายตูด เพื่อปิดบัญชีทำบุญ นะจ๊ะๆ แต่ประการใด แต่คนเลี้ยงอาจจะอยากไปสวรรค์แทน ถ้ากุ้งตัวเก่งเกิดตายเสียก่อน อย่างไรก็ตามดินบัว ก็มีแร่ธาตุดี สำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช สายบริโภคด้วย ก็นิยมใช้ปูบางๆ ในอ่างผ้าใบอยู่เหมือนกันครับ ข้อเสียอีกข้อหนึ่ง ก็คือ ดินบัว มักมีตัวอ่อน ของแถม สำหรับ สัตว์น้ำบางประเภท เช่น หอยน้ำจืดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมากมายนัก และ สำหรับผู้ที่จะเอาดินบัวเลี้ยงกุ้งแคระนั้น จะปลูกบัว หรือ ปลูกต้นไม้น้ำไปด้วย ก็ดูดีนะครับ ข้อเสียอีกอย่างก็คือ ตัวดิน อาจจะมีปรสิต มาติดกับกุ้งได้ครับ สำหรับผู้ที่เลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก หลังจากใช้งานการเลี้ยงดินแบบนี้ไปซักระยะแล้ว ควรต้องมีการโรย EM Ball, ปุ๋ยอินทรีย์สูตรญี่ปุ่น และ ตากดินให้แห้ง หลังจากถ่ายน้ำแล้วเอากุ้งออกเป็นระยะๆ เพื่อลดปัญหาก๊าซไข่เน่าสะสมก้นบ่อครับ
2. ดินปลูกต้นไม้ , ดินธรรมดา อื่นๆ
สำหรับดินประเภทนี้ นับว่าเป็น ดินโคตรสุดยอดมหาถูก ชนิด 20 บาท ปูได้ทั้งบ่อ หรือ ค่อนบ่อขนาด 30 – 36 นิ้วสบายๆ แต่ข้อเสียนี่ ก็เยอะตามราคา ใหนจะน้ำใสช้ามากๆ ช่วงแรกก็จะมีฝุ่นละอองลอยเต็มอ่างไปหมด ต้องคอยช้อนออกในช่วงแรกๆ แต่นานๆไป ( ย้ำว่านานมากโขอยู่ ) น้ำก็จะใสได้เหมือนกัน และ ก็จะมีสัตว์หน้าดินมากเหลือเฟือ บางที ก็มากเกินไป ( เช่น พวกหนอนน้ำต่าง ๆ , แมลงน้ำ ) สามารถเอามาเป็นอาหารกุ้ง ได้อย่างสบาย เท่าที่ลองเลี้ยงกุ้งดูแบบหลวมๆตัว ก็โตดีใช้ได้อยู่นะครับ ถ้าอดทนรอการเซ็ตตัวไหว ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือ วัดค่าไนเตรท์ , ไนไตรทดูก่อนลงกุ้งนะครับ ว่า ค่าเป็น 0 หรือยังก่อนลงกุ้งนะครับ ไม่งั้นกุ้งก็อาจจะไปสวรรค์ได้เช่นกันครับ ดินประเภทนี้ ถ้าเซ็ตตัวเรียบร้อยแล้ว พอลงเลี้ยงกุ้งแคระ หรือ กุ้งเครย์ฟิช ลักษณะตะกอนจะน้อยกว่า ดินบัว ไม่ค่อยฟุ้งมากนักครับ ได้บรรยากาศ การเลี้ยงในธรรมชาติแบบสุดๆ เหมาะกับสายชอบความ “ ดิบ ๆ” Hardcore ระดับคนรักสัตว์และธรรมชาติในสถานที่จริงครับ อย่างไรก็ตาม ดินลักษณะนี้ ไม่อุ้มน้ำนะครับ ในการเลี้ยงควรใส่ในภาชนะ เช่นบ่อปูนครับ และดินชนิดนี้ ก็มีข้อเสียอีกอย่าง คืออาจจะเจอปรสิตได้ เช่นเดียวกับดินเหนียว หรือ ดินบัวครับ แน่นอนว่าเมื่อมีการใช้ไปนานๆ ก็ควรต้องมีการใส่ EM และ ทำการตากดิน และ เช่นเดียวกับดินประเภทดินเหนียวครับ
3. ดินปลูกไม้น้ำ
เป็นดินที่เหมาะสมเช่นกัน สำหรับการเลี้ยงกุ้ง และ ปลอดภัยจากปัญหาสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ปรสิต จากกระบวนการทำและอัดเม็ด ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม แน่นอนว่า เมื่อผ่านขั้นตอนกันถึงขนาดนั้นแล้ว สนนราคา ก็ต้องมีพอสมควร ดังนั้น ในการซื้อดินประเภทนี้ ควรจะต้องฝึกการปันส่วน เงินตรา จากที่ภรรยาให้เอาไว้อย่างพอเพียง ในการดำรงชีพ มาใช้จ่ายให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ดินสำหรับปลูกต้นไม้ มักจะมีการอัด “ ปุ๋ยไม้น้ำ “ เอาไว้ มากกว่าดินเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในการเซ็ตระบบ ควรมีการถ่ายน้ำ และ วัดค่าต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนลงกุ้งครับ โดยปริมาณของ “ ปุ๋ยไม้น้ำ “ ที่ละลายออกมา ถ้ามากเกินไป ก็จะเป็นพิษต่อกุ้งได้เช่นกันครับ โดยเฉพาะ กุ้งแคระ เกรดสูงๆนี่ อาจจะตายได้ในเวลาไม่นานเลย แต่ดินสำหรับปลูกต้นไม้น้ำนั้น จะดีกับกุ้งมากๆ เพราะว่า มีแร่ธาตุสูงกว่า ดินเลี้ยงกุ้ง โดยปกตินั่นเองครับ
4. ดินเลี้ยงกุ้ง
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ทำมาเพื่อเลี้ยงกุ้งโดยเฉพาะ ทำให้การเซ็ตระบบง่าย ล้างฝุ่น ล้างคราบไคลหน่อย เซ็ตน้ำซักนิด ก็ลงกุ้งได้แล้วจ้า อันนี้เลยยกๆ เอาไว้ ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกันนะครับ ถ้าจะให้มีเคล็ดแถมให้อีกนิดก็คือ ถ้าสังเกตว่า กุ้งเริ่มโตช้า หรือ ให้ผลผลิตน้อยลง ในตู้ที่ปูดินเดิม ก็อาจจะแสดงว่าแร่ธาตุที่ละลายจากดินนั้นร่อยหรอ หรือ แทบจะหมดแล้ว ขอแนะนำให้ทำการดูดดินออกไปทำประโยชน์อย่างอื่น แล้ว ปูดินใหม่ใส่เพิ่มเข้าไปแทนครับ จะเพาะกุ้งให้ดีๆ อย่าหวง อย่าตืด เรื่องดินเลี้ยงกุ้งครับ อิอิอิ
เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.