วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559



กุ้งเครย์ฟิช ที่บ้านป่วยตายเป็นจำนวนมากๆ โดยสังเกตว่าก่อนตาย กุ้งมีสีที่แปลกไป และ กล้ามเนื้อมีสีขาวขุ่น เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ?

กุ้งเครย์ฟิชนั้น บางครั้งเราจะพบว่า มีอาการป่วย และ ตายในเวลาไม่นานนัก โดยที่ถ้าสังเกตจากภายนอกนั้นจะพบว่า กุ้งนั้นมีลักษณะตัวเป็นสีส้ม และเนื้อที่ส่วนหน้าท้องนั้น มีสีขาวขุ่น ซึ่งสาเหตุนั้น ก็สามารถเป็นได้จากทั้ง ในส่วนของปัญหา ไวรัส และ แบคทีเรีย ครับ
ปัญหาในส่วนของไวรัสนั้น อาจจะเกิดจาก ไวรัส ตัวแดงดวงขาว หรือ White spot syndrome virus หรือมีชื่อย่อว่า WSSV โดยกุ้งสามารถติดเชื้อได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น จากการกินอาหาร , การปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากน้ำและ การมีกุ้งที่เป็นพาหะ เลี้ยงอยู่ในระบบด้วย โดย ความรุนแรง และ อัตราการแพร่ระบาดของโรค จะพบในน้ำที่มีความเค็มสูง มากกว่าความเค็มต่ำ นั่นคือ สามารถพบโรคนี้ได้ ทั้งในกุ้งน้ำจืด และ กุ้งทะเลนั่นเอง เพียงแต่ กุ้งน้ำจืด เช่น พวกกุ้งฝอยต่างๆ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกันครับ รวมทั้งค่าอุณหภูมิด้วย ถ้าเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูง จะพบการระบาดของโรคนี้ได้ต่ำกว่า ดังนั้น จึงมักพบการระบาดของไวรัสชนิดนี้ได้มาก ในช่วงปลายปี - ต้นปี ของทุกๆปีเป็นต้น
เชื่้อไวรัส ตัวแดง ดวงขาวนั้น สามารถก่อให้เกิดโรค และ เป็นพาหะของโรค ในสัตว์ได้หลากหลายชนิด มากกว่า 50 สปีชียส์ เช่น ปู,กุ้งน้ำจืด,กุ้งมังกร และ ยังพบในสัตว์พาหะอีกบางอย่าง ที่เป็นอาหารของกุ้ง ด้วย เช่น อาร์ทีเมีย และ ครัสเตเชียลเล็กๆ อื่นๆ สำหรับการระบาดของโรคไวรัส ในชนิดนี้ นั้นมักพบได้มาก ในการเลี้ยง กุ้งเครย์ฟิช บางชนิด เช่น กุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งก้ามหนาม สาย P.clarkii ในรูปแบบการผลิตกุ้งเนื้อ คือมีการเลี้ยงรวมกัน ในที่ๆความเค็มไม่สูงมากนั่นเอง และ เมื่อมีการจับกุ้งเครย์ฟิช ที่เลี้ยงรวมกับ กุ้งขาว แวนนาไมขึ้นมา จึงมีการค้นพบว่า ในบางแหล่ง ก็พบการติดเชื้อ และ การเป็นพาหะ ซึ่งกันและกัน ของกุ้งทั้งสองประเภทนี้ครับ และ เนื่องจากเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากไวรัส จึงไม่มียารักษาใดๆ และ กุ้งจะตายในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วมาก ภายใน 1 - 2 วัน หรือ ตัวที่รอด ก็จะอยู่ในสภาพที่เป็นพาหะต่อไป
การป้องกัน โรคไวรัส ตัวแดง - ดวงขาว
- มีการพักน้ำ ก่อนนำน้ำมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง
- ก่อนจะนำกุ้งเครย์ฟิช จากแหล่งใหม่ๆ เข้ามา ขอให้ทำการกัก และดูอาการของโรค ก่อน อย่างน้อยประมาณ 7 - 10 วัน
- ไม่เลี้ยงกุ้งให้หนาแน่นเกินไป
- ดูแลคุณภาพน้ำ เพื่อให้กุ้งนั้นมีความแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงกุ้งด้วยอาหารสด เช่น กุ้งฝอยดิบ , กุ้งฝอยทะเล , คริลล์ , เนื้อปูทะเล , หอยทะเล หรือ เพรียงทรายสดๆ จากธรรมชาติ
- ใช้สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ ความแข็งแรงของกุ้ง เช่น เบต้า กลูแคน , วิตามินซี , ฟูคอนแดน ( สารสกัดจากสาหร่าย )
- ก่อนลงกุ้งล็อตใหม่ อาจจะแช่บ่อ และ อุปกรณ์ เลี้ยงกุ้งต่างๆ ด้วยคลอรีน ประมาณ 30 PPM นานประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ แช่อุปกรณ์เลี้ยงกุ้ง ในน้ำร้อน 70 องศา หรือมากกว่า นาน 15 - 20 นาที
- มีการบำบัดน้ำ ให้สะอาด ก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ธรรมชาติ
และ ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องของ แบคทีเรีย ตัวร้าย ที่จะทำให้กุ้งเครย์ฟิช นั้นมีอาการหลังตาย ตัวออกสีส้มๆ เนื้อขาวขุ่น ได้เช่นกัน
ลักษณะของกุ้งเครย์ ฯ ที่เป็นโรคจากแบคทีเรียนี้ อัตราการตายของกุ้งจะช้ากว่า โรคที่เกิดจากไวรัสครับ สาเหตุเกิดจากความหมักหมมและ สกปรกของ พื้นบ่อดิน หรือ บ่อปูน และ ภาชนะที่เลี้ยง ทำให้กุ้งเครย์ฟิช เกิดอาการป่วย ซึ่งโรคจากแบคทีเรียนี้ ก็สามารถใช้วิธีในการป้องกันให้เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับ โรคที่เกิดจากไวรัสครับ เพียงแต่ความรุนแรงของโรค และ อัตราการตาย อาจจะช้ากว่าเล็กน้อยครับ ( แต่ก็ตายกันรัวๆ ได้เหมือนกัน สรุปแล้ว อันตรายทั้งคู่ครับ ) อันนี้จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมกุ้งที่เลี้ยงในระบบปิด ให้แต่อาหารสำเร็จรูป จึงเกิดโรคได้นั่นก็คือ โรคจากแบคทีเรีย ที่เกิดจากความหมักหมม ของพื้นตู้ ในการเลี้ยงเป็นหลัก
ส่วนการจำแนกว่า เป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือ ไวรัส ชนิดใหนนั้น ต้องจำแนกด้วยวิธีการนำเนื้อเยื่อ ของกุ้งที่เป็นโรค นำไปเข้าแล็บ และนำวิธีการตรวจสอบแบบ PCR และ เทคนิคชีวโมเลกุลระดับสูง อื่นๆ เช่น hybridization,westen blot analysis เป็นต้น หรือ การใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ดูลักษณะอนุภาคของเชื้อในเนื้อเยื่อ และ เทคนิค ชีววิเคราะห์ โดยนำเชื้อจากกุ้งที่ป่วย มาฉีดเข้าในกุ้งปกติ และ ดูอาการที่เกิดขึ้นในภายหลัง สำหรับ กุ้งที่ป่วยเป็นโรคจากแบคทีเรียนั้น ถ้าทราบว่าเป็นแบคทีเรียชนิดใหน และ ความเสียหายอยู่ในระยะเริ่มต้น ก็พอจะสามารถหายาปฏิชีวนะประเภทต้านเชื้อโรค มาคลุกกับอาหารกุ้ง และ สารเคลือบอาหาร เช่น ไคโตซาน แล้วนำมาให้กุ้งกิน ยับยั้งการระบาดของโรค พร้อมเร่งทำความสะอาด สถานที่เลี้ยงได้ครับ
แต่หนทางที่ดีทีสุดคือ การป้องกันการเกิดโรค จากทั้งไวรัส และ แบคทีเรีย จะดีที่สุดครับ
ตัวอย่าง เทคนิคการทำ PCR
1. การเตรียมตัวอย่าง
สารเคมี
Lysis Solution
- 0.05 N NaOH
- 0.25% SDS (Sodium Dodecyl Sulfate)
การบดตัวอย่าง
1. นำตัวอย่างลูกกุ้งหรือเหงือกและเนื้อเยื่อใต้เปลือกของกุ้งใหญ่ใส่ในหลอดเปล่าขนาด 1.5 ml.โดยไม่ให้จำนวน
ที่ใส่เกินขีดปริมาตร 0.1ที่ระบุไว้ข้างหลอดโดยประมาณ สำหรับลูกกุ้ง P5-P15จะใช้จำนวน 30-40 ตัว/หลอด
แช่ใน Ethyl Alcohol 70-95%
2. ใช้ Autopipette ดูด Alcohol ออกให้มากที่สุด
3. การบดตัวอย่างเติมสารสองตัว ( Lysis Solution ) คือ 0.05 N NaOH และ 0.025% SDS อย่าง
ละ 100 ul (microliter) (สารสองตัวนี้จะเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง)
4. บดกุ้งให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลามากนัก เพราะ NaOH และ SDS
จะเป็นตัวยับยั้งการทำงานการทำงานของเอ็นไซม์ แต่ก็ไม่ควรให้นานเกินไป
5. ต้มในน้ำเดือด 5 นาที โดยเจาะรูที่ฝาเพื่อกันระเบิด
6. รีบแช่ในน้ำแข็ง ทิ้งไว้สักพักแล้วนำหลอดขึ้นมาสะบัดเบา ๆ เพื่อให้ตะกอนที่เกาะตามข้างหลอดตกลงมาที่
ก้นหลอด โดยไม่ต้อง Centrifuge ให้ตะกอนแยกชั้นจากสารละลาย
เตรียมตัวอย่างเสร็จแล้วควรทำ PCR ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 วัน
ข้อควรระวัง
1. ขั้นตอนการบดตัวอย่างควรบดให้ละเอียดและเร็ว ถ้ายังไม่ต้มทันทีหลังจากบดควรแช่หลอดไว้ในน้ำ แข็ง
2. ต้องสวมถุงมือสะอาดในการทำทุกขั้นตอน
3. Tip ที่ใช้แล้วไม่ควรใช้ซ้ำอีก
2. การเตรียมสารละลายในการทำ PCR (cocktail)
สำหรับ 1 Reaction (total Volume = 50 ul คือ 45 ul Cocktail + 5 ul Template) 
Cocktail ul
Sterilized Distilled Water 22.0
dNTP (1 mM) 10.0
10x PCR Buffer 5.0
MgCl2 (25 mM) 3.0
Primer 1 2.5
Primer 2 2.5
Taq Polymerrase (5 unit / ul) 0.4
สำหรับ Positive Control ใช้ครั้งละ 5 ul รวมทั้งใช้น้ำกลั่น sterile ครั้งละ 5 ul สำหรับ NegativeControl
ข้อควรระวัง
1. Tip และ Tube (0.5 และ 1.5 ml.) ที่ใช้ในทุกขั้นตอนต้องผ่านการ sterilization
2. Tip ที่ใช้ดูดสารใดสารหนึ่งแล้วไม่ควรใช้ซ้ำอีก
3. การดูด Enzyme ควรใช้ Tip แตะที่ขอบบนของสารละลาย การจุ่มปลาTip ลงไปมาก จะทำให้ปริมาตร
ของ Enzyme ที่ได้ผิด
3. การทำ PCR
1. ใช้ Autopipette ดูดสารละลายใสส่วนบนที่ได้จากการเตรียม Sample ในข้อ1. จำนวน 5 ul ใส่ใน
หลอดขนาด 0.5 ml. สำหรับเครื่อง PCR ที่ใช้สำหรับหลอดขนาด 0.2 ml. อัตราส่วน cocktail ก็ลดลงตาม
สัดส่วน
2. ใส่ Cocktail จากข้อ 2. ที่เตรียมไว้หลอดละ 45 ul
3 .ผสมสารละลายด้วย vortex
4. หยด Mineral oil 2 หยด
5 Run PCR ตาม Progrme ดังนี้
90 องศาเซลเซียส 3 นาที 60 องศาเซลเซียส 30 วินาที 72 องศาเซลเซียส 30 วินาที 1 cycle
90 องศาเซลเซียส 30 วินาที 60 องศาเซลเซียส 30 วินาที 72 องศาเซลเซียส 30 วินาที 33 cycle
90 องศาเซลเซียส 30 วินาที 60 องศาเซลเซียส 30 วินาที 72 องศาเซลเซียส 5 นาที 1 cycle
4. การตรวจหา PCR Product จาก Gel Electrophoresis และการถ่ายรูป
การเตรียมสาร
Tris - borate buffer (TBE) 
10X = ( 0.89 M Tris, 0.89 M Boric acid, 0.02 M EDTA ( pH 8.0 )
= 108 g Tris, 55 g Boric acid, 40 ml. 0.5 M EDTA ( pH 8.0 )
4.1 การเตรียม gel 1.5% ( w/v) 
1. ชั่ง Agaroe gel ใส่ในบัฟเฟอร์ TBE (1X) ให้มีความเข้มข้น 1.5%
2. ต้มจนกระทั่ง Agaroe ละลายในบัฟเฟอร์เป็นเนื้อเดียวกัน
3. ทิ้งไว้ให้เย็นลงถึงประมาณ 60๐C นำไปเทลง Gel Chamber ที่มี Comb ตั้งอยู่เรียบร้อยแล้ว
4. ทิ้งไว้จน Agarose แข็งตัวจึงดึง comb ออก และเท TBE (1X) จนท่วม Gel เล็กน้อย
4.2 Gel Electrophorisis
1. ผสมสารละลาย PCR Product 15 ul กับ Loading dye 3-5 ul แล้วหยดลงใน well ของ Agarose
gel ที่เตรียมไว้ (เว้น well แรกสำหรับหยอด DNA marker)
2. ต่อขั้ว Electrode กับ Power Supply โดยให้กระแสวิ่งจากขั้วบอกภายใต้แรงเคลื่อนไฟฟ้า (Voltage)
ที่คงที่ (100 volts นานประมาณ 45 นาที)
3. เมื่อครบเวลาจึงหยุดเครื่องแล้วนำ gel ไปแช่ในสารละลาย 1ug/ml Ethidium bromide ประมาณ 10 นาที
4. ตัก gel ออกจากสารละลาย Ethidium bromide ไปล้างในน้ำกลั่นนานประมาณ 15 นาที
5. นำแผ่น gel มาดู PCR Product ด้วย UV-Source และถ่ายรูป
ข้อควรระวัง
1. แสง UV เป็นอันตรายต่อสายตาควรสวมแว่นตาป้องกันแสง UV ขณะปฏิบัติงาน
2. Ethidium bromide เป็นสารอันตรายอย่างมาก ห้ามสัมผัสโดยตรงโดยไม่ใส่ถุงมือ
การลดความเป็นพิษของสารละลาย Ethidium bromide ก่อนทิ้ง
1. เติมน้ำ 1 เท่าตัวของสารละลาย Ethidium bromide ในขณะนั้น
2. เติม 0.5 M KMn04 (ด่างทับทิม) 1 เท่าตัวของสารละลาย Ethidium bromide ที่เติมน้ำแล้วผสมให้
เข้ากันระวังอย่าให้สารละลายหกออกมา
3. เติม 2.5 M HCI 1 เท่าตัวของปริมาตรทั้งหมดที่มีอยู่ ผสมให้เข้ากัน และทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 1 วัน
4. เติม 2.5 M NaOH อีก 1 เท่าตัว ผสมให้เข้ากันแล้วจึงเททิ้ง
เครดิต ข้อมูล
ศ.ดร.วิชัย บุญแสง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์
เครดิตภาพประกอบ : การทดลองฉีดเชื้อ WSSV ในกุ้งสาย P.clarkii 
  


วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559


สำหรับในเรื่องภัยหนาวนี้ นับเป็นอันตรายร้ายแรง สำหรับกุ้งเครย์ฟิช และ กุ้งแคระอยู่เช่นกัน รวมทั้งปลาต่างๆด้วยซึ่งถึงแม้ว่า อัน กุ้งทั้งหลายนั้น มีพื้นฐานที่ชอบน้ำเย็นอยู่
โดยส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ชอบน้ำเย็นจัด เย็นเจี๊ยบแต่ประการใด ไม่งั้นตอนคนเอาน้ำแข็งน็อค คงอยู่สบายมีความสุขไปแล้ว กุ้งเองนั้น เมื่ออุณหภูมิต่ำลงไปมากๆ ( ซักราว 20 องศา ) สายพันธุ์โดยส่วนใหญ่ ก็จะเริ่มหยุดการกิน เข้าสู่โหมดจำศีลแล้ว และ ถ้าอุณหภูมิลดต่ำลงไปกว่านี้ กุ้งก็แทบจะไม่เคลื่อนไหวเลย จะเก็บสะสมและเผาผลาญพลังงานที่มีอยู่เดิม ไปจนกว่าจะอุ่นขึ้น ทีนี้ถ้าน้ำเย็นเป็นเวลานานเกินไป กุ้งก็จะไม่กินอาหาร ร่างกายอ่อนแอลงตามลำดับ ความต้านทานโรคลดน้อยลง และ มักป่วยในเวลาต่อมา ซึ่งเรื่องนี้นั้น การเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ ให้อุ่นอยู่เสมอ จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดละนะครับ แต่ถ้าทำไม่ได้ วิธีการโดยทั่วไป ก็อาจจะใช้การติดตั้งฮีตเตอร์ , ก่อกองไฟ ใกล้ๆบ่อ โดยใช้วิธีการควบคุมอย่างฉลาด เช่นก่อกองไฟบนรถขนปูน ที่ควบคุมแรงไฟง่าย ทำให้โรงเรือนอุ่นได้ แบบ ภูมิปัญหาชาวบ้าน หรือ การเอาผ้าใบคลุมบ่อไม่ให้ลมผ่าน และ งดการให้อาหารกุ้งในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้น้ำเสียเป็นต้นครับ 

รวมทั้งควรเพิ่มการให้อ็อกซิเจนภายในบ่อเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะบ่อที่มีหน้าดิน เนื่องจาก ระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ภายในบ่อโดยเฉพาะกลุ่มของจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่ช่วยย่อยเศษอาหารจะทำงานได้ช้าลง ทำให้ปริมาณของเสียจากขี้และเศษอาหารกุ้งที่ตกค้างนั้นมีจำนวนมากขึ้น เกิดการบูดเน่าย่อยสลายเกิดก๊าซแอมโมเนีย, ไฮโดรเย่นซัลไฟด์และในที่มีออกซิเจนต่ำ ๆ ก็จะเกิดก๊าซในกลุ่มของมีเธนด้วย ทำให้อากาศที่พื้นบ่อน้อยลง กุ้งขาดอากาศ เกิดเป็นอันตรายได้ง่ายครับ สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกๆท่าน ผ่านหน้าหนาวนี้ไปได้อย่างปลอดภัยนะครับ (( แต่ตอนนี้อากาศร้อนจัง ฮา ))

เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์


หลายๆท่าน อาจจะเคยประสบปัญหา ที่ว่า อาหารของกุ้งที่บ้านนั้นบังเอิญหมด แล้วไม่สามารถที่จะไปหาซื้อได้ในขณะนั้นๆ เช่น ติดธุระ หรือ ร้านอาหารสัตว์แถวละแวกบ้านปิด หรือ ท่านประสงค์อยากจะ หาอาหารใหม่ๆ ให้กุ้งของท่านทานบ้าง ท่านสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยการลองเดินเข้าไปดูที่ตลาดในละแวกบ้าน ซึ่งก็มีอาหาร ที่ขายกันตามตลาดสดพื้นบ้าน หลายๆอย่าง สามารถนำมาใช้เป็นอาหารของน้องกุ้งได้ทั้งนั้น โดย รายละเอียดคร่าวๆ มีดังนี้คือ

กุ้งเครย์ฟิช เป็นกุ้งที่สามารถ กินเนื้อ และ พืชผัก ธัญพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ท่านสามารถหา อาหาร ที่เป็นเนื้อปลาแห้ง ชิ้นเล็กๆ หรือ เนื้อปลาทะเลจากตลาด มาตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ให้น้องกุ้งเคร ฯ ของท่าน กินได้อย่างง่ายดาย แต่พึงระวัง ในส่วนของการให้ที่มากเกินไป อาจจะทำให้น้ำเสียได้ ส่วนอาหารที่น่าสนใจอื่นๆ ก็เช่น เต้าหูไข่ หรือ ไข่สดก็สามารถนำมาผสมกับ อาหารปลาดุก เพื่อทำเป็นไข่ตุ๋น ให้กับกุ้งได้เช่นกัน ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารที่สูง แต่ก็ควรให้ในปริมาณที่พอดีเท่านั้น เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย ซึ่งในส่วนนี้ ถ้าเป็นอาหาร ที่มาจากธัญพืช เช่น เมล็ดถั่วเล็กๆ เช่นถั่วเหลือง หรือ ข้าวซ้อมมือ ที่มีวิตามินสูง ก็จะลดปัญหานี้ได้เช่นกัน พวกข้าวกล้อง ข้าวมันปูนั้น กุ้งก็สามารถเก็บกินได้เป็นอย่างดีเช่นกันครับ และทำให้น้ำเสียได้ยากกว่า ส่วนผักอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น แครอท หรือ ฟักทอง ฯลฯ แต่ต้องมีศิลปะในการหั่นซักเล็กน้อย ให้ผักมีน้ำหนัก จะได้จมน้ำ กุ้งจะได้รับประทานได้ง่ายครับ แล้วก็ควรที่จะล้างสารเคมีให้หมด และ สะอาดจริงๆ ค่อยให้ครับ และ บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องต้มนะครับ เพราะว่าจะทำให้น้ำเสียได้ง่าย แต่กับพืชผัก บางชนิด เช่น หม่อน หรือ ผักโขม ต้ม หรือ อบแห้งเสียหน่อย จะจมน้ำ และ กุ้งจะกินได้ง่ายขึ้นครับ และ สามารถให้กินได้อย่างสบาย ทั้ง กุ้งเครย์ฟิช และ กุ้งแคระเลยทีเดียว สำหรับอาหารจำพวกใบพืชต้มนิ่มๆ นี่ครับ
เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์


เนื่องจากได้ยินมาว่า มีผู้แนะนำให้ ใช้สารเคมีตัวนี้ ในการฆ่าเชื้อราที่ไข่กุ้ง เวลากุ้งไข่ ออกมาแล้วเริ่มมีเชื้อราขึ้น เลยอดที่จะตกใจไม่ได้ เพราะว่า ยาและเคมีภัณฑ์บางชนิด อย่าง มาลาไคท์ กรีน ที่หาซื้อได้ง่ายในตลาดปลาบ
้านเรา นั้นพบมานานแล้ว ว่าเป็นสารเคมีอันตราย ทั้งต่อคน และ สัตว์น้ำ เช่น ก่อให้เกิดความบกพร่องของทารกในครรภ์ (Teratogen)และเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) เป็นสารเคมีที่มีการตกค้างในสิ่งมีชีวิต (Residue) และสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenic) และ เป็นเคมีภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษสูง ปัจจุบัน ในประเทศไทย ได้มีมาตรการห้ามใช้ สารตัวนี้ ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อการบริโภคทุกชนิดแล้ว แต่สำหรับในวงการสัตว์น้ำ ยังมีการใช้งานสารเคมี
ชนิดนี้กันอยู่อย่างแพร่หลาย และ ก็ได้มี บางคนแนะนำ ให้ใช้สารตัวนี้ ในการฆ่าเชื้อรา ในแม่กุ้งไข่ด้วยซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากครับ

ยา มาลาไคท์ กรีน มีสูตร เคมีว่า C23H25N2 มีลักษณะเป็นผงสีเขียว ละลายน้ำได้ดี เมื่อละลายน้ำแล้วได้ สารสีออกน้ำเงินตอนนี้ มีอยู่ 2 ชนิดคือ รูปของมาลาไคท์ กรีน ออกซาเลต (Malachite green oxalate) และ รูปของมาลาไคท์ กรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Malachite green hydrochloride)ตัวยาชนิดนี้ มีชื่อ ทางตลาด มากมายเช่น วิคทอเรีย กรีน (Victoria Green),แอนิลีน กรีน(Aniline Green),เบนซัลดีไฮด์ กรีน (Benzaldehyde Green) ,ไชน่ากรีน (China Green) ,ไดมอนด์ กรีน (Diamond Green) ,บริลเลี่ยน กรีน (Brilliant Green)เป็นต้น มียี่ห้อแตกต่างกันไปมากมาย ในท้องตลาด 

คุณสมบัติด้านอื่นๆ 

1.มาลาไคท์ กรีน สามารถ นำมาใช้เป็นสีสังเคราะห์ที่ใช้สำหรับย้อมวัสดุต่างๆ เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ฝ้ายและกระดาษ

2.มาลาไคท์ กรีน จะถูกดูดซึม และมีการเปลี่ยนรูปไปเป็น ลูโคมาลาไคท์ กรีน (Leucomalachite Green : LMG) ในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำ และจะตกค้างเป็นระยะเวลานาน

ข้อเสีย

- เหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ตับ ในสัตว์ทดลอง ในขณะที่ลูโคมาลาไคท์ กรีน สามารถก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ และตับในสัตว์ทดลอง

- เหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในการก่อให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง

- ทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยการเพิ่มความยาวของสาย DNA

- ทำให้การพัฒนาของตัวอ่อน หลังฟักออกจากไข่มีความผิดปกติไปจากเดิมถึง 3-5 เท่า

- เป็นพิษโดยตรงต่อระบบหายใจของสัตว์น้ำและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของเลือด 

- ทำให้ระดับของแคลเซียมและโปรตีนในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ 

- เป็นพิษอย่างรุนแรงต่อสาหร่ายพืชน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในน้ำจืดและทะเล ( กุ้ง และ ครัสเตเชียลต่างๆ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ) 

แล้วจะใช้สารเคมีใดได้แทน มาลาไคท์ กรีน ?

- ฟอร์มาลิน ออกฤทธิ์กำจัดปรสิตภายนอก สัดส่วนที่ใช้ 25-40 ส่วนในล้านส่วน นาน 24 ชั่วโมง 
- ไตรฟูลาริน ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อรา สัดส่วนที่ใช้ 0.1 ส่วนในล้านส่วน นาน 24 ชั่วโมง 
- โอโซน ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อรา สัดส่วนที่ใช้ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร นาน 1 นาที 
- โพวิโดน ไอโอดีน ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อราบนไข่ปลา สัดส่วนที่ใช้100 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร นาน 15 นาที 
- ด่างทับทิม ออกฤทธิ์กำจัดปรสิตภายนอก สัดส่วนที่ใช้ 2-4 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง 
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อราบนไข่ปลา สัดส่วนที่ใช้ 1,000 ส่วน ในล้านส่วน นาน 15 นาที 
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaHOCl)เป็นสารฆ่าเชื่อโรค สามารถกำจัดเชื้อรา ที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์น้ำได้ 
ใช้เพียง 30 PPM เพียง 1 ชั่วโมง ทุกๆ 3 วัน 

แต่ทุกๆสารเคมี นั้น ต้องมีความระมัดระวัง ในการใช้เป็นอย่างมาก เพราะถ้าใช้ไม่ถูกสัดส่วน และใช้เป็นเวลานานเกินไป ( ใช้แค่ช่วงแรก ก่อนไข่มีการพัฒนาตัวก็พอ ) ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ( กุ้ง ) ที่ท่านเลี้ยงได้โดยตรงครับ หรือ ไม่เราก็ดูแล คุณภาพน้ำของตู้เลี้ยงให้สะอาด ไม่มีความหมักหมม ก็สามารถลดโอกาศที่จะเกิดปัญหา ไข่กุ้ง ( หรือปลา ) มีเชื้อราเกิดขึ้นได้ ในระดับหนึ่งแล้วครับ 

เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์

วิธีรักษาโรคสนิมเบื้องต้น ในกรณีที่กุ้งยังไม่เป็นมากนักคือ การถ่ายน้ำและเร่งให้กุ้งลอ
กคราบออกเสีย จากนั้นจึงให้ผู้เลี้ยงตักคราบทิ้งทันที เร่งการลอกคราบทำได้โดยการถ่ายน้ำด้วยน้ำที่มีค่า Alkalinity หรือ ค่าความกระด้าง สูงกว่าอยู่ในตู้ หรือปรับน้ำให้มีค่าอยู่ในช่วงที่จะกระตุ้นได้ ( น้ำจืด 80 – 100 ppm น้ำเค็ม 150 – 200 ppm ) และเมื่อกุ้งลอกคราบออกแล้ว ให้นำคราบของกุ้งไปทิ้งครับ และหากยังเป็นโรคนี้ขึ้นมาอีกให้ใช้ยา Chioramphenicol 5-7 MG ผสมอาหาร 1 ขีด ให้กินติดต่อกันจนกว่าจะหาย ควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพน้ำ ( ต้องคำนวณปริมาณยารักษาให้เหมาะสม และถูกต้อง ไม่อย่างนั้น จะเกิดอันตรายต่อกุ้งได้ ) โดยปกติแล้วกุ้งที่มีสุขภาพดี และ คุณภาพน้ำเหมาะสม จะลอกคราบเดือนละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับชนิดและวัยของกุ้งด้วย ซึ่งถึงแม้ว่ากุ้งจะไม่ค่อยเป็นโรค แต่ถ้าเป็นแล้วจะรุนแรง และ สูญเสียเร็วมาก จึงต้องมีการเอาใจใส่เป็นอย่างดีครับ 

เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์






ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีพี่ๆน้องๆ สอบถามกันมามากมายหลายเคสเหลือเกินว่า ช่วงนี้ดินเลี้ยงกุ้งนั้นค่อนข้างจะขาดแคลนในบางพื้นที่ หาซื้อยากมากๆ บางพื้นที่ก็ทยอยมีมาบ้าง แต่ก็ใกลเหลือเกิน ทีนี้ จะใช้ดินอะไรแทนได้บ้างไหม คำถามเหล่านี้ ก็พอจะตอบให้ได้ดังนี้ครับ
1. ดินบัว , ดินเหนียว
อันนี้หาซื้อง่าย ราคาถูกมาก ใช้ไม่กี่ก้อน โปะไม่กี่ก้อน เต็มอ่างมังกรใหญ่ ๆ ตอนโปะดินนี่สนุกมาก แต่การรอน้ำใส่ นี่ต้องใช้เวลานาน (ไม่)ซักหน่อย ดินประเภทดินบัวนี้ เหมาะกับการเลี้ยงกุ้งแคระ ที่ราคาค่างวดไม่สูงนัก มากกว่ากุ้งเครย์ฟิช เนื่องจาก กุ้งเครย์ฟิช จะขุดหน้าดินจนน้ำขุ่นฟุ้งไปหมด และ พบว่า บ่อยครั้ง กุ้งมักจะขุดไปเจอแก็สไข่เน่า แล้วจิตวิญญาณ ก็จะลอยสลาย หายฟุ้ง กลับคืนขึ้นสู่สรวงสวรรค์หลากหลายชั้น โดยไม่ต้องบริจาค ชนิดขายบ้าน ขายรถ จนแทบ จะขายตัว ขายตูด เพื่อปิดบัญชีทำบุญ นะจ๊ะๆ แต่ประการใด แต่คนเลี้ยงอาจจะอยากไปสวรรค์แทน ถ้ากุ้งตัวเก่งเกิดตายเสียก่อน อย่างไรก็ตามดินบัว ก็มีแร่ธาตุดี สำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช สายบริโภคด้วย ก็นิยมใช้ปูบางๆ ในอ่างผ้าใบอยู่เหมือนกันครับ ข้อเสียอีกข้อหนึ่ง ก็คือ ดินบัว มักมีตัวอ่อน ของแถม สำหรับ สัตว์น้ำบางประเภท เช่น หอยน้ำจืดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมากมายนัก และ สำหรับผู้ที่จะเอาดินบัวเลี้ยงกุ้งแคระนั้น จะปลูกบัว หรือ ปลูกต้นไม้น้ำไปด้วย ก็ดูดีนะครับ ข้อเสียอีกอย่างก็คือ ตัวดิน อาจจะมีปรสิต มาติดกับกุ้งได้ครับ สำหรับผู้ที่เลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก หลังจากใช้งานการเลี้ยงดินแบบนี้ไปซักระยะแล้ว ควรต้องมีการโรย EM Ball, ปุ๋ยอินทรีย์สูตรญี่ปุ่น และ ตากดินให้แห้ง หลังจากถ่ายน้ำแล้วเอากุ้งออกเป็นระยะๆ เพื่อลดปัญหาก๊าซไข่เน่าสะสมก้นบ่อครับ
2. ดินปลูกต้นไม้ , ดินธรรมดา อื่นๆ
สำหรับดินประเภทนี้ นับว่าเป็น ดินโคตรสุดยอดมหาถูก ชนิด 20 บาท ปูได้ทั้งบ่อ หรือ ค่อนบ่อขนาด 30 – 36 นิ้วสบายๆ แต่ข้อเสียนี่ ก็เยอะตามราคา ใหนจะน้ำใสช้ามากๆ ช่วงแรกก็จะมีฝุ่นละอองลอยเต็มอ่างไปหมด ต้องคอยช้อนออกในช่วงแรกๆ แต่นานๆไป ( ย้ำว่านานมากโขอยู่ ) น้ำก็จะใสได้เหมือนกัน และ ก็จะมีสัตว์หน้าดินมากเหลือเฟือ บางที ก็มากเกินไป ( เช่น พวกหนอนน้ำต่าง ๆ , แมลงน้ำ ) สามารถเอามาเป็นอาหารกุ้ง ได้อย่างสบาย เท่าที่ลองเลี้ยงกุ้งดูแบบหลวมๆตัว ก็โตดีใช้ได้อยู่นะครับ ถ้าอดทนรอการเซ็ตตัวไหว ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือ วัดค่าไนเตรท์ , ไนไตรทดูก่อนลงกุ้งนะครับ ว่า ค่าเป็น 0 หรือยังก่อนลงกุ้งนะครับ ไม่งั้นกุ้งก็อาจจะไปสวรรค์ได้เช่นกันครับ ดินประเภทนี้ ถ้าเซ็ตตัวเรียบร้อยแล้ว พอลงเลี้ยงกุ้งแคระ หรือ กุ้งเครย์ฟิช ลักษณะตะกอนจะน้อยกว่า ดินบัว ไม่ค่อยฟุ้งมากนักครับ ได้บรรยากาศ การเลี้ยงในธรรมชาติแบบสุดๆ เหมาะกับสายชอบความ “ ดิบ ๆ” Hardcore ระดับคนรักสัตว์และธรรมชาติในสถานที่จริงครับ อย่างไรก็ตาม ดินลักษณะนี้ ไม่อุ้มน้ำนะครับ ในการเลี้ยงควรใส่ในภาชนะ เช่นบ่อปูนครับ และดินชนิดนี้ ก็มีข้อเสียอีกอย่าง คืออาจจะเจอปรสิตได้ เช่นเดียวกับดินเหนียว หรือ ดินบัวครับ แน่นอนว่าเมื่อมีการใช้ไปนานๆ ก็ควรต้องมีการใส่ EM และ ทำการตากดิน และ เช่นเดียวกับดินประเภทดินเหนียวครับ
3. ดินปลูกไม้น้ำ
เป็นดินที่เหมาะสมเช่นกัน สำหรับการเลี้ยงกุ้ง และ ปลอดภัยจากปัญหาสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ปรสิต จากกระบวนการทำและอัดเม็ด ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม แน่นอนว่า เมื่อผ่านขั้นตอนกันถึงขนาดนั้นแล้ว สนนราคา ก็ต้องมีพอสมควร ดังนั้น ในการซื้อดินประเภทนี้ ควรจะต้องฝึกการปันส่วน เงินตรา จากที่ภรรยาให้เอาไว้อย่างพอเพียง ในการดำรงชีพ มาใช้จ่ายให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ดินสำหรับปลูกต้นไม้ มักจะมีการอัด “ ปุ๋ยไม้น้ำ “ เอาไว้ มากกว่าดินเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในการเซ็ตระบบ ควรมีการถ่ายน้ำ และ วัดค่าต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนลงกุ้งครับ โดยปริมาณของ “ ปุ๋ยไม้น้ำ “ ที่ละลายออกมา ถ้ามากเกินไป ก็จะเป็นพิษต่อกุ้งได้เช่นกันครับ โดยเฉพาะ กุ้งแคระ เกรดสูงๆนี่ อาจจะตายได้ในเวลาไม่นานเลย แต่ดินสำหรับปลูกต้นไม้น้ำนั้น จะดีกับกุ้งมากๆ เพราะว่า มีแร่ธาตุสูงกว่า ดินเลี้ยงกุ้ง โดยปกตินั่นเองครับ
4. ดินเลี้ยงกุ้ง
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ทำมาเพื่อเลี้ยงกุ้งโดยเฉพาะ ทำให้การเซ็ตระบบง่าย ล้างฝุ่น ล้างคราบไคลหน่อย เซ็ตน้ำซักนิด ก็ลงกุ้งได้แล้วจ้า อันนี้เลยยกๆ เอาไว้ ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกันนะครับ ถ้าจะให้มีเคล็ดแถมให้อีกนิดก็คือ ถ้าสังเกตว่า กุ้งเริ่มโตช้า หรือ ให้ผลผลิตน้อยลง ในตู้ที่ปูดินเดิม ก็อาจจะแสดงว่าแร่ธาตุที่ละลายจากดินนั้นร่อยหรอ หรือ แทบจะหมดแล้ว ขอแนะนำให้ทำการดูดดินออกไปทำประโยชน์อย่างอื่น แล้ว ปูดินใหม่ใส่เพิ่มเข้าไปแทนครับ จะเพาะกุ้งให้ดีๆ อย่าหวง อย่าตืด เรื่องดินเลี้ยงกุ้งครับ อิอิอิ
เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์


น้ำหมักมูลไส้เดือน หรือ ที่เรียกกันในชื่อภาษาอังกฤษ ( ที่ง่ายนิดเดียว แต่ยากเยอะ ) ว่า Worm Tea นั้น เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากมาย และ ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในวงการๆเลี้ยงกุ้งได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะวงการเลี้ยงกุ้งเศรษฐกิจ ในปริมาณมากๆ ( แต่จะนำมาใช้ในการเลี้ยง กุ้งสวยงาม ก็ไม่มีปัญหาครับ เพราะหลายๆคน ก็เลี้ยงรวมในบ่อ หลายๆตัวอยู่เหมือนกัน )
อันปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน ( Vermicompost ) นั้น จะเกิดจากกระบวนการย่อยสลายสายอินทรียวัตถุภายในลำไส้ของไส้เดือนดินนั่นเอง ซึ่ง ก็แล้วแต่เจ้าไป ว่าใช้ไส้เดือนพันธุ์อะไร แต่ที่นิยมกันมาก ก็จะเป็นไส้เดือนดินพันธุ์ AF หรือ ( African Night Crawler ) ที่ตัวใหญ่ และ ยาว แถม อึด ถึก ทน เป็นที่นิยมเลี้ยงยิ่งนัก จนไม่รู้ว่า ไส้เดือน สายพันธุ์ไทยๆ จะน้อยใจกันบ้างหรือเปล่า แต่จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไส้เดือนชนิดไหน ก็ไม่ค่อยจะถูกโรคกับคนเขียนเท่าใดนัก แค่มองห่างๆ อย่าง (ไม่) ห่วงๆ ไม่กรี๊ดแตกเวลามันคลานมาใกล้ๆ ก็ค่อนข้างจะรักษาภาพพจน์ความเป็นผู้ชายได้อยู่พอสมควร แต่ถ้าใครเอากองไส้เดือนมาแกล้งโยนใส่หน้านี่ ถ้าไม่โดนคนเขียนโดดเอาบาทายันคืน ก็ให้รู้ไปซิ (ฮา) เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบสัตว์หลากหลายประเภทแค่ไหน แต่มันก็ต้องมีประเภทที่ไม่ชอบมั่งล่ะน่า
แต่ถึงจะเป็นสัตว์ที่หน้าตา ดูไม่ค่อยน่าอภิรมย์อะไรเท่าไหร่นัก ( ในสายตาผู้เขียนนะ ) แต่มูลไส้เดือน และ น้ำหมักของมันนั้น กลับมีคุณค่าทางการเกษตรอย่างมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงการปลูกพืช เพราะมันเป็นเรื่องตายตัวอยู่แล้ว แต่สำหรับการเลี้ยงกุ้งนั้น เราสามารถนำตัวปุ๋ยมูลไส้เดือน และ น้ำหมักมูลไส้เดือนนั้นมาปรับใช้ได้ ทั้งการเลี้ยงกุ้งเชิงพาณิชย์ และ กุ้งสวยงาม ด้วยคุณประโยชน์ดังนี้ครับ
1. เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ และ ส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน ในบ่อเพาะเลี้ยง
2. เพิ่มช่องว่างในดิน ทำให้มีการระบายน้ำ และ อากาศในระบบดียิ่งขึ้น
3. ช่วยทำให้หน้าดินในบ่อเลี้ยง ไม่จับเป็นแผ่นแข็ง
4. เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ และ จุลินทรีย์หน้าดิน ( ซึ่งพวกนี้ ก็คืออาหารตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองในระบบ ให้กับกุ้งของเราโดยตรงนั่นเอง )
5. มีแร่ธาตุหลัก N P K และ แร่ธาตุรองอีกร่วม 10 ชนิด เช่น โซเดียม , คลอไรด์ซัลเฟด , คาร์บอเนต , ไนเตรท ( ฟอสฟอรัส กับ โปรแทสเซียมนั้นมีความสำคัญ ในการลดปัญหา อาการตัวงอ ตัวเกร็งของกุ้ง ) นอกจากนั้น ยังมีจุลินทรีย์อีกกว่า 300 ชนิด รวมทั้งจุลินทรีย์ แอนตี้ แบคทีเรียฝ่ายร้าย ที่เกิดในระบบ การเลี้ยงกุ้ง ที่มีชื่อว่า โปรไบโอติคด้วย ซึ่งถือได้ว่า มีคุณประโยชน์ มากกว่าน้ำหมัก EM ทั่วๆไปครับ และยังเพิ่มค่าอัลคาไลน์ ได้อย่างปลอดภัย ประหยัดค่าปูนขาว และ เมื่อมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มาก การเลี้ยงกุ้ง ก็จะง่ายขึ้น และ กุ้งก็จะแข็งแรง เจริญอาหาร และเติบโตเร็วขึ้นด้วยครับ
สำหรับแนวทางการทำน้ำหมักมูลใส้เดือนนั้น มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยสำหรับรอให้น้ำหมักใช้งานได้ ( อันนี้ระยะเวลาไม่ตายตัวนัก ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำหมัก ที่เราจะทำด้วย ) สำหรับขั้นตอนคร่าวๆ ก็มีดังนี้ครับ
1. นำมูลไส้เดือนมาใส่ถุงกรอง ใส่น้ำ ปริมาณ โดยประมาณ อัตราส่วนมูลไส้เดือนต่อน้ำ เท่ากับ ประมาณ 2:10 เช่น ตักมูลไส้เดือน มา 2 ขัน ก็ใส่น้ำ 10 ขัน จะทำมากทำน้อยแค่ไหน ก็สูตรนี้ละกันนะครับ เอาไปปรับใช้เอาเด้อ
2. จากนั้นนำน้ำที่ละลายเรียบร้อยแล้ว มาเป่าอ็อกซิเจนเอาไว้ 1 – 2 วันครับ น้ำจะเริ่มเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ
3. ทำการให้กากน้ำตาล เป็นอาหารแก่จุลินทรีย์ในน้ำหมักไปเรื่อยๆ ตอนแรกๆ น้ำจะมีฟอง แต่หลังๆ เมื่อฟองของกากน้ำตาลหายไปแล้ว เป็นฟองฝอยๆ การแตกตัวของอากาศเหมือนกับในน้ำตามปกติแล้ว ให้เราหยุดให้อากาศเพื่อพักน้ำให้นิ่ง จนมีสภาวะการสร้างสปอร์ของจุลินทรีย์แล้ว และวัดค่าน้ำจาก 6.5 เป็น 8 – 8.5 เมื่อไหร่ ก็สามารถนำมาใช้ได้ครับ สำหรับการเลี้ยงกุ้งเชิงพาณิชย์นั้น ปริมาณในการทำน้ำหมักนั้นต้องมากหน่อย โดยเฉลี่ยต้องใส่ไร่ละ 1 – 2 ลิตร แต่สำหรับผู้เลี้ยงกุ้งสวยงามนั้น ใช้ปริมาณที่น้อยกว่านั้นมากครับ ถ้าเป็นตู้ทั่วไป ก็ใส่น้ำหมักก่อน เริ่มเซ็ตตู้ และ ใส่เสริมหลังการถ่ายน้ำในปริมาณที่เหมาะสมนะครับ ไม่ใช่ใส่น้ำหมักเสียเยอะจน กลายเป็นเลี้ยงกุ้งในน้ำหมัก ถ้าแบบนั้นก็เตรียมรอตั้งวง ทำซุปกุ้ง ได้เลยครับ แฮ่...ใส่แค่พอน้ำมีสีนิดๆหน่อยๆก็เพียงพอครับ ส่วนพวกที่ทำบ่อกุ้งนั้น งานนี้สบายกว่ามาก เอาถุงปุ๋ยมูลไส้เดือนแช่เขย่าในบ่อ กันได้อย่างสบายแฮ เขย่าจนน้ำในบ่อสีเข้มๆ ก็ค่อยเอาออกก็พอ อัตราส่วนเสริมอยู่ที่ประมาณ 12 กิโลกรัม ต่อ บ่อ 1 ไร่ครับ
แต่สำหรับ พี่น้องฯ ท่านใด ที่ไม่สะดวกทำจริงๆ บ้านอยู่หอพัก ไม่มีพื้นที่มากพอ จะรันน้ำหมักชีวภาพ ที่กลิ่นหอมหวนชวนข้างห้องเข้าใจผิดว่า มีหนูท่อมาสิ้นชีพ อยู่ในห้องของเรานั้น ปัจจุบัน พวกน้ำยาปรับสภาพจุลินทรีย์ หรือ จุลินทรีย์น้ำ ที่มีประโยชน์ต่างๆ ก็มีมาจำหน่ายกันมากพอสมควร จะซื้อจะหามาใช้ใส่เพื่อรันน้ำก่อนลงกุ้งของเรา ก็ไม่ผิดแต่ประการใดครับ เพียงแต่อาจจะต้องเสียสินทรัพย์ทางโลกเพิ่มขึ้นอีก (ไม่ ) นิดหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะบางยี่ห้อก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของกุ้งเรา กระผมว่ามันก็คุ้มค่าอยู่นะครับ อย่างไรก็ตามพวกสูตรหรือคุณค่าทางการเลี้ยงกุ้งนี่ ไม่แน่ใจว่าเหมือนกันหรือเปล่า แต่ก็น่าจะใช้ประโยชน์ได้ใกล้เคียงกันนะครับ และ ถ้าใช้โอเวอร์โดส นี่กุ้งก็ตายได้ ต้องระวังตรงจุดนี้ด้วยครับ
ป.ล. อีกที ขณะกำลังดำเนินการใดๆ กับน้ำหมัก ไม่ว่าจะตักมาตวง หรือ ตักมาผสมก็ดี ถ้าน้ำหมักทำไว้เยอะ คนทำไม่ควรกินข้าวมาให้อิ่มนัก ด้วยรัก และ เสียดายของกินครับ (ฮา)
ป.ล. อีกที น้ำหมักนี่ บางคนเขาก็ว่าหอมนะ อันนี้ก็แล้วแต่คนเน่อ
ป.ล. อีกที๊ อีกที นะจ๊ะ ปิดบัญชี ถ้าไม่สะดวกทำน้ำมูลไส้เดือนด้วยตัวเอง เดี๋ยวนี้เขาก็มีคนทำสำเร็จ ขายพร้อมใช้แล้วนะครับ ไปหาๆเอาตามเน็ตเด้อ คนเขียนไม่ได้ขายนะ อิอิอิ
เครดิต : ข้อมูลเสริมบางส่วนจาก อิศรา ฟาร์ม ครับ
ขับเคลื่อนโดย Blogger.